Wednesday, October 28, 2009

the language which the deaf can hear and the blind can see


“Kindness
is the language which the deaf can hear and the blind can see.”

Mark Twain

ใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของนักเขียนที่ใช้นามปากกาว่า Mark Twain ก็คงจะคุ้นเคยกับคำคมข้างต้นเป็นอันดี ในขณะเดียวกันคนที่เพิ่งจะเห็นคำคมที่ว่าเป็นครั้งแรกก็คงจะอึ้งในความช่างคิดช่างจินตนาการของนักเขียนท่านนี้ เพราะถ้าเราจะทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่า kindness ในภาษาอังกฤษก็จะพบว่าไม่ว่าใครคนหนึ่งจะหูหนวกหรือตาบอดเขาคนนั้นก็สามารถจะเข้าถึงความหมายของคำๆนี้ได้อย่างง่ายดาย นั่นก็เพราะเราสามารถสัมผัสถึง “ความเมตตา” “ความมีน้ำใจ” “ความกรุณา” “ความโอบอ้อมอารี” ที่เราได้รับจากผู้ที่หยิบยื่นให้โดยที่ไม่จำเป็นต้องได้ยินด้วยหู หรือเห็นด้วยตา

ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรมซึ่งรจนาโดยพระเดชพระคุณ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ก็ได้พรรณาถึงสาระของพรหมวิหารธรรม 4 ไว้โดยละเอียด ซึ่งในที่นี้ขอคัดมาเพียงบางส่วนว่า ....

พรหมวิหาร 4 (ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์, ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ - holy abidings; sublime states of mind)
1. เมตตา (ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า - loving-kindness; friendliness; goodwill)
2. กรุณา (ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์ - compassion)
3. มุทิตา (ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป - sympathetic joy; altruistic joy)
4. อุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน - equanimity; neutrality; poise)

ผู้ดำรงในพรหมวิหาร ย่อมช่วยเหลือมนุษย์สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตากรุณา และย่อมรักษาธรรมไว้ได้ด้วยอุเบกขา ดังนั้น แม้จะมีกรุณาที่จะช่วยเหลือปวงสัตว์แต่ก็ต้องมีอุเบกขาด้วยที่จะมิให้เสียธรรม

ในพระพุทธศาสนา กรรมทั้งหลายที่บรรดาเราท่านได้ประกอบอยู่ในชีวิตประจำวันของเรานั้นย่อมไม่พ้นไปจาก กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม เราสามารถดำรงอยู่ในพรหมวิหารเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย กับเราดังที่ท่านได้ว่าไว้ได้หลายวิธี แต่มีวิธีหนี่งที่ทุกคนเป็นเจ้าของอยู่แล้วและสามารถทำได้ทันทีในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ นั่นก็คือ การแสดงเมตตาจิตด้วยการใช้วจีกรรม แล้วคุณก็จะได้สัมผัสกับความมหัศจรรย์แห่งผลของการประกอบวจีกรรมตามที่ปรากฏในคำคมอันล้ำลึกของท่านแม่ชีเทเรซา ที่ว่า “วาจาอันเปี่ยมด้วยเมตตานั้นอาจจะสั้นหรือกล่าวออกไปโดยไม่ยาก แต่ความก้องกังวานของถ้อยคำเหล่านั้นสิ ไม่มีที่สิ้นสุด”

“Kind words can be short and easy to speak, but their echoes are truly endless.”

Mother Teresa

Thursday, October 15, 2009

From my brain to your brain



“Language is the means of getting an idea from my brain into yours without surgery.”
~Mark Amidon


ช่างเป็นการอุปมาอุปมัยที่เฉียบแหลมเหลือเกิน ถ้าจะอุทานตามประสาคนร่วมสมัยก็ต้องบอกว่า “คิดได้งัยเนี่ย” ที่บอกว่า “ภาษา คือเครื่องมือสำหรับส่งผ่านแนวคิดจากสมองฉันสู่สมองเธอโดยไม่ต้องอาศัยการผ่าตัด” ซึ่งเมื่ออ่านแล้วเราๆ ท่านๆ ก็คงต้องยอมรับ เพราะถ้าตัดปัจจัยสี่ออกไปแล้ว สิ่งที่ทำให้สังคมของมนุษยชาติ ดำรงคงอยู่และขับเคลื่อนมาได้จนถึงทุกวันนี้ก็ได้อาศัยสิ่งที่เรียกว่า “ภาษา” เป็นองค์ประกอบสำคัญองค์ประกอบหนึ่ง โดยที่ภาษาที่กล่าวถึงในบริบทนี้มีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งภาษากาย ภาษาภาพ ระบบสัญลักษณ์ ตลอดไปจนถึงภาษาพูด และภาษาเขียนที่เราคุ้นเคยกันอยู่ในปัจจุบัน 

ลองจินตนาการถึง การบอกเล่าเรื่องราวอะไรบางอย่างให้ใครคนหนึ่งรับรู้โดยไม่ใช้ภาษาดู ก็จะเห็นชัดถึงบทบาทอันสำคัญยิ่งของสิ่งที่เรียกว่าภาษา ส่วนการถ่ายทอดแต่ละเรื่องราวด้วยภาษานั้นจะมีความละเมียดละไม งดงาม ละเอียดอ่อน ก้าวร้าว หรือแข็งกระด้างเพียงใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับจริต ทักษะและความสามารถส่วนบุคคล ซึ่งก็แตกต่างกันไป


ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของการพาสหราชอาณาจักรผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้นั้นเกิดจากอัจฉริยภาพด้านการใช้ภาษาของ Sir Winston Churchill ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในขณะนั้น โดยอาศัยการสื่อสารผ่านการกระจายเสียงทางสถานีวิทยุอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ได้มาซึ่งการบรรลุวัตถุประสงค์ของการสื่อสารแต่ละครั้ง ด้วยถ้อยคำ และลีลาการใช้ภาษาที่เฉียบคมและแยบคายขนาดที่ว่าปัจจุบันทายาทของท่านยังสามารถสร้างรายได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน จากมรดกทางภาษาที่ท่านได้ทิ้งไว้ให้

ผู้สนใจสามารถดูบทบันทึกถ้อยคำของการกระจายเสียงเหล่านั้นได้ที่ 


  http://www.winstonchurchill.org/learn/speeches/speeches-of-winston-churchill และถ้าใครเป็นคนที่สนใจเรื่องข้อคิดคำคม ก็คงจะทราบดีว่าท่าน Sir Winston Churchill นั้นเป็นเจ้าของคำคมระดับโลกอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว วันนี้จะขอยกตัวอย่างมาเป็นน้ำจิ้มสัก 1 ตัวอย่างคือ


“To improve is to change; to be perfect is to change often.” นัยว่า

 “การปรับปรุงคือการเปลี่ยนแปลง การเข้าถึงความสมบูรณ์แบบคือการเปลี่ยนแปลงให้บ่อย”

Brain Power
Creative Brains:Music Art and Emotion


Sunday, October 11, 2009

บทนำ The Miracle of Language



Fernando Flores - We Human Beings Belong to LanguageWe human beings belong to language. In language we love and hate, we admire and despise. We interpret our crises as individual and social. We suffer, and exalt, and despair. In language, we receive the gift of being human. All the feeling, the thinking, the action, and the things of the world as we know it are given to us in language.
Fernando Flores



....จากข้อความข้างต้น ซึ่งให้แนวคิดอันหมดจดเกี่ยวกับภาษาซึ่งถือได้ว่าเป็นสมบัติล้ำค่าของมนุษยชาติ คงไม่มีใครปฏิเสธถึงพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งภาษา ภาษาเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่เชื่อมโยงสมาชิกในสังคมเข้าด้วยกัน เราใช้ภาษาเป็นสื่อส่งผ่านความรัก ความชัง ความคิดถึง ความห่วงใย ความขัดแย้ง ความสมานสามัคคี ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความระแวงสงสัย ความชื่นชมยินดี ความโศกเศร้า ความสมหวัง ความสุข ความทุกข์ ฯลฯ ที่เห็นได้ชัดอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง คือ ภาษา เป็นสื่อหรือตัวกลางในการส่งผ่านหรือถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์สาขาใด หากฝ่ายผู้ถ่ายทอด และผู้รับการถ่ายทอด ไม่สามารถทำความเข้าใจกันได้ผ่านภาษาใดภาษาหนึ่งอย่างมีคุณภาพแล้ว การถ่ายทอดความรู้ใดๆ ก็ไม่อาจจะเป็นไปได้เลย

เพื่อสร้างสังคมอุดมปัญญาให้ปรากฏเป็นจริง ผู้เขียนจึงมีความปรารถนาที่จะแบ่งปันเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ ภาษาซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ได้ร่ำเรียนมาจากครูบาอาจารย์ จากการค้นคว้าหามาด้วยตนเอง จากการอ่าน จากการมีประสบการณ์ชีวิตซึ่งได้จากการทำงานและการเดินทาง ตลอดจนสิ่งที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากลูกศิษย์ลูกหา และเพื่อนร่วมเส้นทาง เพียงหวังจะเป็น ศาลาริมทางให้ผู้คนที่ผ่านมาได้ใช้เป็นที่หลบแดด หลบฝน พักเหนื่อย แล้วค่อยเดินทางต่อไปตามเส้นทางของแต่ละคน สิ่งที่จะนำมาแบ่งปันนั้นไม่มีข้อกำหนดที่เคร่งครัด หากมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับ ภาษาและ/หรือ ชีวิต และ จิตวิญญาณที่ถ่ายทอดความมหัศจรรย์ของชีวิตผ่านรูปลักษณ์ของภาษาก็ถือว่าไม่ผิดกติกา 
 ขอจบการเกริ่นนำบล็อกนี้ด้วยถ้อยคำแสนคมของ John Selden ที่กล่าวว่า...
ภาษา/ถ้อยคำคือผู้กำกับดูแลโลก

“Syllables govern the world” 

 บุหงาหิมาลัย